เมืองแห่งหัวใจรักสิ่งแวดล้อม – กรุง Stockholm

บันทึก เรื่องที่ 2 ของทริป ในโอกาสที่น้อง Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Activist) กำลังดังกระฉ่อนโลกในขณะนี้ จึงขอแบ่งปันเรื่องประเทศ Sweden ต่อจากระบบการศึกษานะครับ ผมเองเคยไปประเทศแถบอเมริกากับญี่ปุ่นมาแล้วก็จะทึ่งกับการจัดการทางสิ่งแวดล้อม แต่มาสวีเดนนี่ First Impression คือ บ้านชาวสวีเดนที่ผมไปอาศัยอยู่ เขาแยกขยะแล้วขนขยะไปทิ้งกันเองที่ Recycle Center ไม่ง้อรถขยะเหมือนประเทศอื่น 😳

Greta Thunberg set to arrive in New York City by CBS THIS MORNING

ความเข้มข้นของสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของที่นี่ก่อกำเนิดมานานพอสมควร และปัจจุบันจากเด็กอายุ 10-20 ปีที่เป็นแฟนคลับน้อง Greta ก็จะจับตาสังเกตผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย จากตัวอย่างของการที่ Greta เลือกการเดินทางจาก ประเทศสวีเดน มายังเมืองนิวยอร์ก ด้วยเรือใบพลังงานจากธรรมชาติ ทั้งจากโซล่าเซลล์ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ (The Malizia II, a zero-carbon yacht) ดังในข่าวข้างต้น ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนไม่อยากก่อคาร์บอนด้วยการนั่งเครื่องบินมาเที่ยวประเทศที่ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม 😅 เพราะเกรงว่าการเที่ยวของตนเองจะสร้างมลภาวะมากขึ้น เรื่องนี้มีนัยสำคัญจริงจนแม้กระทั่ง Speech ของทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ ฯ ที่งานเลี้ยงขอบคุณที่จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต่อ VIP ชาวสแกนดิเนเวียน ยังต้องกล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

  • น้องอายุ 15 ปี ถามว่า ทำไมคนในประเทศเราไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ผมตอบอ้ำอึ้งๆ ว่า ประเทศกำลังพัฒนาแบบเรามีปัญหาเยอะเหลือเกิน เราคงจะจัด Priority เรื่องอื่นกันก่อน ซึ่งเป็นคำตอบที่แย่มาก 😅 และน้องคงไม่เข้าใจ
  • ในระดับเมือง มีโอกาสนั่งรถผ่านศูนย์ Recycle ของ Värtaverket CHP plant ซึ่งคือโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลแบบ Combined Heat & Power Plant (CHP) ซึ่งลงทุนสร้างไว้สูงถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าจากชีวมวลขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่น่าทึ่งคือโรงนี้สร้างอยู่ในตัวเมือง Stockholm ด้วย เพราะต้องผลิตน้ำร้อนป้อนให้เมืองด้วย ชาวเมืองค่อนข้างเชื่อมั่นว่า Power Plant นี้ไม่ก่อมลพิษ เนื่องจากมีองค์กรที่คอยตรวจสอบมลพิษตลอดเวลา (Monitoring) ถ้าถามว่าทำไมพวกเขาไว้ใจ ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะระบบรัฐฯ ที่มีความโปร่งใสสูงมากด้วยนั่นเอง
  • พลังงานในสวีเดน มาจากนิวเคลียร์ พลังน้ำ น้ำมัน และขยะ ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นระดับโลกคือ Biofuels (รูปที่ 2 Biogas Bus วิ่งในเมือง) อีกทั้งสวีเดนกำลังจะไปถึงเป้าหมายการใช้ Renewable Energy และ เป้าหมายทางประสิทธิภาพการใช้พลังงานของปี 2030 ภายในปีนี้ (2019) คือบรรลุเป้าก่อนเป็นสิบปี 😳
  • ต้นไม้จะตัดมาใช้ได้ ต้องมีอายุร้อยปีขึ้นไป
  • Stockholm การคมนาคมดีมาก มีแอพพลิเคชั่นระบุตำแหน่ง และเวลาของการเดินทางแม่นยำ ทั่วถึงในสไตล์ #SmartCity #SmartMobility คนเมืองไม่จำเป็นต้องซื้อรถ การเดินทางทั่วเมืองสะดวกสบายด้วยบัตรใบเดียว ( แม้ว่า Benz E220d รุ่นใหม่จะมีราคาเพียง 1.2 ล้านบาท จนเป็น taxi มาตรฐานทั้งเมืองก็ตาม)
  • รถยนต์ไฟฟ้ามีมาก และ Taxi Tesla เห็นได้ทั่วไปในเมือง
  • สวีเดนเปิดใช้งานถนนที่ชาร์จไฟรถได้อัตโนมัติ คือวิ่งไปชาร์จไฟไปได้ในตัวแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 2018 และมีแผนจะทำทั่วประเทศ
  • คนใช้รถมีค่าใช้จ่ายด้านที่จอดรถในเมืองสูง และมี “ภาษีหนาแน่น” เวลาขับรถเข้าเมือง โดยตัวกล้องจะจับทะเบียนรถและส่งรายการเก็บภาษีมาถึงบ้านทุกเดือน
  • คนเมืองใช้จักรยาน และสกูตเตอร์ไฟฟ้า ( มีหลายแบรนด์มากที่ทำโมเดล Sharing ) แบบจริงจัง เลนจักรยานดีมาก คนเดินถนนอย่างเราไม่ค่อยชินต้องระวังเดินทับเลนจักรยานนิดหน่อย
  • โรงเรียนระดับปฐมวัยที่ใกล้บ้านมากแบบเดินไปได้ อย่างที่เคยพูดไปแล้ว
  • สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) (ไปครั้งนี้ผมไม่ได้แลกตังค์เลยแม้แต่บาทเดียว) ซึ่งช่วยลดมลภาวะได้เยอะนะครับ (Cashless Technology to Environment )
  • การลดขยะ เริ่มที่ Reuse ก่อน แน่นอนว่าเมืองที่เจริญแล้วทั่วโลกเวลาเราซื้อของ จะไม่ได้ถุงพลาสติกครับ แถมถุงพลาสติกที่นี่ราคาค่อนข้างแพงด้วยนะคือ 3 บาทขึ้นไป คนส่วนใหญ่พกถุงกันเป็นเรื่องปกติ และบรรจุภัณฑ์ให้ความรู้สึกว่าไม่ซับซ้อนเยอะแยะ
  • ที่ชอบคือถังขยะสาธารณะในเมืองหาง่ายกว่าญี่ปุ่นมาก และเป็นถังอัจฉริยะอัดขยะด้วยพลังแสงอาทิตย์ เช่น แบบ BigBelly
  • ขวดโค้กที่นี่มี ฺBarcode อยู่ สามารถเอาไปคืนที่เครื่องคืนขวดอัตโนมัติได้ ถ้าเป็นขวดจากสวีเดนเราจะได้ตังค์คืนด้วยนะครับ เช่นเดียวกับภาชนะบรรจุภัณฑ์อื่นก็เอาไปคืนที่ Recycle Center ได้ เข้าใจว่าชนิดพลาสติกมีผลมากต่อการ Reuse / Recycle จึงต้องมี Bar Code กันการนำบรรจุภัณฑ์เมืองอื่นมาปะปน
  • ระดับครอบครัว การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากการล้างขยะพอสังเขปเสียก่อน เช่น ผมกินพาสต้าก็ต้องล้างถ้วยพาสต้าสำเร็จรูปก่อนทิ้งหน่อยนึง คนในบ้านมีความตระหนักและความเข้าใจเรื่องการแยกขยะมาก เช่น กล่อง Pringle จะประกอบด้วยกระดาษกับโลหะก้นกล่อง เขาบอกว่าถ้าขยันก็แยกส่วน ถ้าไม่ขยันก็ควรทิ้งในประเภทโลหะ เพราะกระดาษพอไหม้ไฟได้ครับ
  • ครอบครัวมีรถเข็นขยะสำหรับนำไปทิ้ง หรือแลกเปลี่ยนเอง หลายส่วนได้เงินคืน ในส่วนของสินค้าอิเล็คทรอนิคส์จะมีบริษัทมาจัดการให้ อันนี้ในไทยสินค้า Apple ก็มีแล้วครับ

Disclosure: บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนการเดินทาง แต่บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากตัวแทนที่เกี่ยวข้อง