ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น(1): รอยเลื่อนกับเขื่อนไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2553 มาเราก็ได้ยินข่าวแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนระดับโลกกันไปแล้วจากเหตุการณ์ที่เฮติ และตามกันมาอีกหลายระลอกย่อย

พอมาถึงปลายปีก็เป็นช่วงของ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น ได้มาบรรยายความรู้เกี่ยวกับเรื่องนอกโลกจะส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ ให้คนไทยเราได้เห็นความเป็นจริงที่ท่านค้นพบมาด้วยการศึกษาของท่านเอง

จริงๆ แล้วหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หลายครั้ง เราก็จะเห็นว่ามีการจัดอภิปรายกันหลายเวทีด้วยกัน แต่ดูกระแสในเมืองไทยเห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนที่เกรงกันว่าจะแตก อีกทั้งมาเชื่อมโยงกับเรื่องที่คนไทยเพิ่งผ่านวิกฤตคือ น้ำท่วม นั่นเอง

จากที่หลายๆ แหล่งข่าวที่ชี้บ่งว่าเขื่อนอยู่คร่อมรอยเลื่อนทั้งหมด , บ้างก็ว่า เกือบทุกเขื่อนคร่อมรอยเลื่อน, หรือบางสำนักสรุปมาว่าเขื่อนเสี่ยงสูงคือ 2 เขื่อนที่กาญจนบุรี แล้วมีผลกระทบขนาดไหน ถึงขั้น Worst Case เขื่อนแตกแบบภาพจำลองหรือไม่ จึงได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนมาให้มองเห็นความเชื่อมโยงกันค่ะ (โปรดคลิ๊กที่รูปเพื่อดูรูปขยาย)

ตำแหน่งเขื่อนกับรอยเลื่อน

Map Thailank dams & Crustal faults EGAT กฟผ แผนที่รอยเลื่อนเปลือกโลกและเขื่อน
เขื่อนและรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย (ขอบคุณส่วนหนึ่งของภาพจาก กรมทรัพยากรธรณี ต.ค. 2549)

จากรูปแสดงการเชื่อมโยงตำแหน่งเขื่อนใหญ่ลำดับ 1-6 ที่ผลิตเกือบ 90% ของการผลิตด้วยเขื่อนในประเทศไทย ที่เหลือเป็นเขื่อนเล็กๆค่ะ จะเห็นว่าอยู่ใกล้รอยเลื่อนทั้งในกาญจนบุรี อุตรดิตถ์ และตาก ดังที่กล่าว

สัดส่วนความเสี่ยง

สัดส่วนเขื่อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำของไทย กฟผ  ratio of Hydro Power Plant Thailand 2010
สัดส่วนเขื่อน-โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-ของไทย

จากรูปข้างบนจะเห็นได้ว่า เขื่อน 2 เขื่อนที่มีความเสี่ยงสูงดังที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าว คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่ตั้งคร่อมรอยเลื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิตรวมกัน 35% หรือ 1 ใน 3 ของการผลิตด้วยเขื่อนทั้งหมดในประเทศไทย

เรียงลำดับจากกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งโยงเข้าได้กับปริมาณน้ำในเขื่อนค่ะ ตัด error จากที่เทคนิคของเครื่องกังหันน้ำแตกต่างกันเล็กน้อย

และที่เน้นว่าในประเทศไทยเนื่องมาจากปริมาณกำลังผลิต หรือ ปริมาณพลังงานไฟฟ้า ทุกวันนี้เราจะใช้สถิติที่รวมการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวอยู่ด้วย แต่ข้อมูลนี้ดึงมาเฉพาะเขื่อนในไทยเท่านั้น สามารถคลิ๊กอ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ค่ะ

วิเคราะห์จากความจริง

อย่างไรก็ตาม นี่เรากำลังพูดกันถึงกำลังผลิตติดตั้งในกรอบแค่ 11% ของกำลังผลิตทั้งหมดในประเทศซึ่งรวมกำลังผลิตสำรองเอาไว้แล้ว และยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์แบบนี้ เราก็ควรดูกันที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจริง ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2553 คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในไทยไม่เกิน 4% เท่านั้น จาก 2 เขื่อนเสี่ยงนั้นก็ผลิตเพียง 1.26% ของประเทศเห็นจะได้

ชัดเจนว่าจากกำลังผลิตติดตั้งที่มีอยู่ 11% แต่ผลิตจริงเพียง 4% นั่นคือ โรงน้ำเป็นเป็นกำลังสำรองจอดนิ่งๆ อยู่เกือบสามเท่าตัว ดังนั้น ประเด็นผลิตไฟฟ้าจาก 2 เขื่อนนั้น (1 ใน 3 ของทั้งหมด) นั้นมีน้ำหนักน้อยมากที่จะเอามาคิดว่าต้องการกักเก็บน้ำไว้เพื่อจุดประสงค์นี้เพียงอย่างเดียว เพราะมีความยืดหยุ่นพอที่จะเดินเครื่องเขื่อนอื่นๆ ได้อีกตั้ง 2 ใน 3 ที่สำรองอยู่ อีกทั้ง ปัจจุบันนโยบายเกี่ยวกับเขื่อนนั้น เน้น การปล่อยน้ำให้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมมาเป็นอันดับแรกค่ะ

ดูเหมือนว่า “การจัดการเรื่องเขื่อนเชื่อมโยงกับสถานการณ์แผ่นดินไหวมีความซีเรียสลดลงเยอะทีเดียว” และอีกข้อมูลสนับสนุนที่ว่า “เขื่อนในไทยก็จะผลิตปริมาณพลังงานไฟฟ้าลดลงจนเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ในปี 2573 ไปใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวแทนด้วยส่วนนึง” นั้นก็เป็นข้อมูลเชิงบวกอีกด้วยค่ะ รู้สึกว่าการจะเกิดวิกฤตหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ในมือของผู้มีอำนาจตัดสินใจซะแล้วสิว่าจะทันกับสถานการณ์อย่างทันทีทันใดและเหมาะสมที่สุดหรือเปล่า