เคเบิลใต้ทะเล วงจรใหม่สู่เกาะสมุย

เคเบิลใต้ทะเล วงจรใหม่สู่เกาะสมุย เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

submarine_power_cable
เกาะสมุยเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศรองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง มีเนื้อที่ประมาณ 252 ตารางกิโลเมตร อยู่ตอนกลางของอ่าวไทยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากชายฝั่งโดยวัดจากท่าเรือดอนสักประมาณ 35 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 84 กิโลเมตร ประกอบด้วย 7 ตำบล และ 39 หมู่บ้าน ปัจจุบันเกาะสมุยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของทะเลอ่าวไทยตอนใต้ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.5-1.8 ล้านคนต่อปี และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นทุกปี ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2504 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้บริการกระแสไฟฟ้าบนเกาะสมุยด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาดเล็กและขยายขนาดกำลังผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ แต่เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น ในขณะที่ระบบไฟฟ้าบนเกาะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลมีกำลังผลิตไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2530 PEA จึงได้เชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 กิโลโวลต์ จากแผ่นดินใหญ่ที่ชายฝั่ง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชมายังเกาะสมุย เป็นระยะทาง 24 กิโลเมตร สามารถรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 17 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำครั้งแรกในประเทศไทย และเพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าบนเกาะสมุยเป็นไปด้วยความมั่นคง ในปี พ.ศ. 2539 PEA ได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าขึ้น 1 แห่ง (สถานีไฟฟ้าเกาะสมุย 1) วางสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 115 กิโลโวลต์ (วงจรที่ 1) ที่สามารถรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 55 เมกะวัตต์ รวมทั้งเชื่อมโยงสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 กิโลโวลต์ จากเกาะสมุยเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่เกาะพะงันด้วย

ต่อมา เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากจำนวนครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจบนเกาะสมุย PEA ได้เชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 115 กิโลโวลต์(วงจรที่ 2) ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตรจากสถานีไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังเกาะสมุยเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าบนเกาะสมุย รวมทั้งสามารถสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอหากสายเคเบิลใต้น้ำวงจรใดวงจรหนึ่งมีปัญหาในการจ่ายกระแสไฟฟ้า และเปิดจ่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อปี พ.ศ. 2549

ปัจจุบัน การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวรวมถึงชุมชนบนเกาะสมุยและเกาะพะงันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดถึง 100 เมกะวัตต์ต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงทำให้เกิดปัญหาไฟตกไฟดับ

ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะสมุยและเกาะพะงันซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางภาคใต้ของประเทศไทยทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว PEA จึงก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแห่งที่ 2 ขึ้นบนเกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าเกาะสมุย 2) และเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 115 กิโลโวลต์ (วงจรที่ 3) ระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตร จากสถานีไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังเกาะสมุย

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้รายละเอียดว่า “เมื่อปี 2555 อำเภอเกาะสมุยมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 42,269 รายรับกระแสไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลใต้น้ำมายังสถานีไฟฟ้าเกาะสมุย 1 ซึ่งจ่ายไฟฟ้าไปให้กับเกาะสมุยและเกาะพะงันทั้งหมด โดยสถานีเกาะสมุย 1 สามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 90 เมกะวัตต์ แต่ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 105 เมกะวัตต์ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี) ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น PEA จึงดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเกาะสมุย 2 ในวงเงินลงทุน 204.8 ล้านบาท และก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 115 เควี วงจรที่ 3 เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเกาะสมุยและเกาะพะงัน โดยมีการวางสายเคเบิลใต้น้ำจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังสถานีไฟฟ้าเกาะสมุย 2 อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เกาะสมุยและเกาะพะงัน ในวงเงิน 3,994 ล้านบาท และได้ทดลองจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา ซึ่งจะรองรับความต้องการปริมาณการใช้ไฟฟ้าบนเกาะสมุยและเกาะพะงันได้ประมาณ 200 เมกะวัตต์ และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม PEA ได้เตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำวงจรใหม่จากเกาะสมุยไปยังเกาะพะงันด้วยงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยกำหนดแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟก่อนปี พ.ศ. 2564”

การที่ PEA ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างเช่นที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน ทำให้การใช้ไฟฟ้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

Source: www.saijaifaifa.com

การตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ต้องคำนึงถึงภาพรวมของทั้งประเทศ หารเฉลี่ยค่าไฟฟ้าเท่าเท่ากัน ไม่ใช่ ถ้าต้องลงทุนสร้างเสาไฟฟ้า สายส่งไปยังชาวเขา เคเบิลใต้ทะเลไปยังชาวเกาะ แล้วจะเก็บค่าไฟในราคาสูงขึ้นได้ เพราะคือพื้นฐานของคนทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรณีความพยายามให้กลุ่มผู้รักษ์ธรรมชาติ ได้จ่ายค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น โซล่าร์ ลม เป็นต้น ตามแนวคิดของ ดร.เดชรัตน์ แนะให้ Renewables มีอยู่ในบิลค่าไฟ โดยมีความเชื่อว่า ธุรกิจโรงแรมสนับสนุนก่อนเลย คือได้จ่ายช่วยเงินลงทุนของประเทศในด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นนั่นเอง เป็นการตอบสนองความต้องการ(อนุรักษ์ธรรมชาติ)ที่เหนือกว่าความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ก็คือพลังงานไฟฟ้าที่มาจากระบบรวมทั้งประเทศ ซึ่งถ้าพลังงานที่จำเป็นต้องใช้นั้นๆ มีปริมาณมาก ก็คือต้องผลิตจากพลังงานฟอสซิลนั่นเอง

เมื่อพิจารณากรณีเกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางภาคใต้นั้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เห็นความพยายามตอบสนองความต้องการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้นปี 2556 สร้าง 115 kV วงจรที่ 3 เสร็จ ซึ่งพอดีกับห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย ห้างสรรพสินค้าต้องการใช้ไฟฟ้าเยอะ จะสร้างเสร็จ มี.ค. 2557 รู้สึกโล่งใจ ว่าระยะนี้ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับขึ้นอีก

ดังนั้น การวางแผนภาคพลังงาน ยิ่งเข้าสู่ยุคทรัพยากรขาดแคลน ต้องควบคู่ไปกับการเติบโตระดับพื้นที่ท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก ไม่เพียงพอถ้ามองเฉพาะระดับภาพรวม PDP ของประเทศเท่านั้น