กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเกิด เพราะหนี้สาธารณะจริงหรือ

northport_stacks coal fired power plant infrastructure fund
โครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตไฟฟ้า (credit ภาพจาก Wikipedia)

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ของประเทศไทย สำหรับไว้ใช้ระดมทุนกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ตั้งแต่ปี 2554 ในปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การประปานครหลวง (กปน.) อยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนรวมฯ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่ว่าจะจัดตั้งอย่างไร เมื่อไร รูปแบบใด แต่เป็นเรื่องสาเหตุและที่มาว่าทำไมถึงต้องมีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและมีแล้วจะดีต่อประชาชนจริงหรือ???

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คืออะไร

ก่อนอื่น จะขอแนะนำให้รู้จักกับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) กันก่อนครับ
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ กองทุนรวมประเภทกองทุนปิดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน สำหรับนำไปใช้พัฒนากิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอาจเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหรือที่เป็นสัมปทานของเอกชน กิจการโครงสร้างพื้นฐานในที่นี้ ได้แก่ กิจการระบบขนส่งทางราง, ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ทางพิเศษหรือทางสัมปทาน, ท่าอากาศยานหรือสนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม และพลังงานทางเลือก

วัตถุประสงค์และผลประโยชน์ที่ได้จากการจัดตั้งกองทุนรวมฯ ที่มักกล่าวกันก็คือ เพื่อเพิ่มช่องทางการระดมทุนสำหรับลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ จากการที่รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานโดยส่วนใหญ่และต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ

โดยสรุปแล้วจะเห็นว่ามีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกัน คือเพื่อ (1) จัดหาเงินทุน และ (2) ลดหนี้สาธารณะ โดยประเด็นลดหนี้สาธารณะนั้นได้ถูกหยิบยกให้เป็นเหตุผลอันดับหนึ่ง เหตุผลสำคัญในการจัดตั้งกองทุนฯ ทำให้เกิดการชักจูงความคิดให้เข้าใจว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้จำนวนมหาศาล และอาจหนักถึงขั้นเข้าใจผิดได้ว่า เป็นหนี้สาธารณะที่รัฐจะต้องรับผิดชอบชดใช้คืนด้วยเงินภาษีของประชาชน ด้วยเหตุนี้แล้ว เราควรจะศึกษาและพิจารณากันต่อครับว่า หนี้สาธารณะคืออะไร มันแย่จริงหรือ เป็นภาระต่อประเทศชาติอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ และการจัดตั้งกองทุนรวมฯจะลดหนี้สาธารณะได้อย่างไร ? ทุกอย่างต้องหาคำตอบครับ เพื่อให้คลายข้อข้องใจกับที่มากองทุนรวมฯ ว่าดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างกันมาหรือไม่ ? เพราะ น้ำ และ ไฟ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อย่างที่เห็นว่า ราคาค่าไฟฟ้า Sensitive ต่อประชาชนมาก ถึงขั้นต่อรองปรับเกณฑ์ค่าไฟฟรี หรือการที่ยอดใช้ไฟฟ้าทะลุ Peak ให้เห็นกันอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเชื่อมโยงการตัดสินใจโครงการลงทุนต่างๆ ดังนั้น หากไม่พิจารณากันให้รอบคอบเสียก่อน ทุกอย่างก็อาจสายเกินแก้ครับ

ค่าน้ำค่าไฟแบบไหนสูงกว่ากัน

การนำเสนอในด้าน “การลดหนี้สาธารณะ” เป็นการให้มุมมองเพียงด้านเดียว ด้านหนี้ เท่านั้นครับ (ผมไม่อยากให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมองแต่ผลตอบแทนเป็นสำคัญ แสดงข้อมูลเพียงด้านเดียวเท่านั้นครับ ไม่ได้ต้องการพาดพิงแต่อย่างใด) เพราะในกรณีของผู้ประกอบการธุรกิจ ก่อนจะลงทุนโครงการใด ก็ต้องมีการคิด Feasibility ทางการเงินมาก่อน หรืออย่างนายธนาคารก็ย่อมต้องมองถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ด้วย คือแค่เพียงอยากจะบอกว่าเรื่องหนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจครับ แต่สำคัญตรงที่ว่า ธุรกิจของคุณแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถใช้คืนหนี้ได้ และยังเหลือผลกำไรที่น่าพึงพอใจหรือไม่

คุณอาจลองคิดง่ายๆ เรื่องใกล้ตัวครับว่า คุณซื้อบ้านเงินผ่อนหรือไม่ แล้วธนาคารปล่อยเงินกู้ให้คุณโดยไม่ดูเครดิตคุณเลยหรือ? ขนาดว่าบ้านไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กับคุณ แต่ถ้าคุณผ่านเกณฑ์ ธนาคารยังให้คุณกู้เลย ในขณะที่กิจการโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้าหรือประปาซึ่ง generate รายได้ตามขนาด Demand ซึ่งเรียกได้ว่ามั่นคงและมหาศาล ใครก็อยากได้เป็นลูกหนี้ทั้งนั้นล่ะครับ ดอกเบี้ยไม่ต้องสูงก็เอา เพราะมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ และถ้ารัฐวิสาหกิจได้ต้นทุนทางการเงินต่ำ เปรียบเทียบกับการขายเข้ากองทุนรวมฯ ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนทางการเงินต้องสูงขึ้น (จากผลตอบแทนที่ดึงดูดนักลงทุน) ค่าน้ำค่าไฟแบบใดจะสูงกว่ากัน และหากรัฐไม่มีการกำกับที่ดีพอ ผลประโยชน์จะอยู่ที่ นักลงทุน (และนักการเมืองที่เป็นนักลงทุน) หรือ คนไทยทั้งประเทศ ลองพิจารณาและชั่งน้ำหนักกันเองครับ

สำหรับ Blog ต่อๆไปจะเล่าถึงรูปแบบการจัดหาเงินทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน และเรื่องของหนี้สาธารณะแบบเจาะลึกมากขึ้น และหากมีข้อคิดเห็นใดๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เสมอ ขอบคุณครับ

โดย –คะน้า–