ราคาน้ำมัน ในไทย

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย
ดัดแปลงจากวารสารนโยบายพลังงานแห่งชาติค่ะ 🙂

1. โครงสร้างราคาน้ำมัน

โครงสร้างราคาน้ำมันจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีก ในส่วนของราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม และในส่วนของราคาขายปลีก จะประกอบด้วย ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน

2.1 การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมันของไทย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป หรือการประกาศราคาของโรงกลั่น โดยช่วงก่อนยกเลิกควบคุมราคาขายปลีก แม้รัฐบาลจะควบคุมราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับคงที่เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง การกำหนดราคาของโรงกลั่นมีการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ตามราคาตลาดโลกที่เปลี่ยนไป โดยรัฐได้ใช้ระบบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาขายส่งที่ออกจากโรงกลั่น และราคานำเข้าให้อยู่ในระดับคงที่ ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากมีการยกเลิกการควบคุมราคาแล้ว ราคาขายส่งจะมีการเปลี่ยนแปลงตามราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งโรงกลั่นเป็นผู้กำหนดราคา และจะส่งผลให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลงตามในที่สุด

2.2 จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยร้อยละ 90 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วน ประกอบกับการค้าน้ำมันเป็นไปอย่างเสรี ดังนั้น การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นจึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (หรือค่าเงินบาท) ซึ่งเป็นต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

3. การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้า

3.1 ช่วงก่อนยกเลิกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรัฐกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น และอัตรากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันแต่ละชนิด ในช่วงดังกล่าวประเทศไทยมีกำลังการกลั่นต่ำกว่าความต้องการในประเทศและต้องพึ่งพาการนำเข้า การกำหนดราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศจึงใช้หลักการของความเสมอภาคกับการนำเข้า (Import Parity Basis) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า โดยหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจะอ้างอิงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงดังกล่าว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยจะเป็นราคา CIF ของราคาสิงคโปร์ คือ ราคาสิงคโปร์บวกด้วยค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนกระทั่งถึงท่าเรือเมืองไทย การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นจะอิงกับราคาประกาศของโรงกลั่นในสิงคโปร์ และสำหรับการกำหนดราคานำเข้าจะอิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าจริง โดยการประกาศราคาจะเปลี่ยนแปลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

3.2 ช่วงหลังการยกเลิกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โรงกลั่นน้ำมันจะเป็นผู้กำหนดราคาด้วยตนเอง สำหรับผู้ค้าน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจะเป็นตามต้นทุนตามจริง เนื่องจากโรงกลั่นต้องแข่งขันกับต้นทุนนำเข้า ดังนั้น โรงกลั่นจึงใช้หลักการเสมอภาคกับการนำเข้า หากโรงกลั่นกำหนดราคาสูงกว่าการนำเข้า ผู้ค้าน้ำมันจะนำเข้าแทนการสั่งซื้อจากโรงกลั่นในประเทศ แต่หากการกำหนดราคาต่ำกว่าราคา นำเข้า จะทำให้โรงกลั่นได้รับกำไรต่ำ ย่อมไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนของธุรกิจการกลั่นในประเทศไทย แต่หลังจากกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีเกินความต้องการทำให้ต้องส่งออก การส่งออกในปัจจุบันตามภาวะปกติจะไม่ได้ราคาที่ดีเท่าที่ควร จากปัญหากำลังการกลั่นในภูมิภาคที่สูงกว่าความต้องการ ดังนั้น โรงกลั่นจึงพยายามที่จำหน่ายน้ำมันในประเทศก่อนส่งออก โดยให้ส่วนลดราคา ณ โรงกลั่นในบางช่วง ทำให้การกำหนดราคาของไทยได้ลดลงมาอยู่ระหว่างราคาส่งออกและราคานำเข้า

การกำหนดราคาของโรงกลั่นจะกำหนดให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับต้นทุนการนำเข้ามากที่สุด เพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น และเนื่องจากการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก จะกระทำกันในตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวในตลาดสิงคโปร์จึงเป็นตัวแทนของราคาน้ำมันของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ โรงกลั่นจึงใช้เกณฑ์การกำหนดราคา โดยอิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์ และมีประกาศเปลี่ยนแปลงราคาทุกวัน เช่นเดียวกับราคาตลาดจรสิงคโปร์

4. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดน้ำมันต่างๆ

ตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ ตลาดที่สำคัญมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง โดยจะเป็นตัวแทนการซื้อขายหรือตกลงราคาน้ำมันของภูมิภาคนั้นๆ ได้แก่ ตลาดในสหรัฐอเมริกา ตลาดยุโรป ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดสิงคโปร์ สำหรับตลาดอื่น ๆ จะกำหนดราคาโดยพิจารณาและคำนึงถึงตลาดเหล่านี้ โดยโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันของประเทศในภูมิภาคนั้นๆ จะคำนึงถึงสภาพความต้องการและปริมาณการผลิตในภูมิภาคอื่น ๆ ประกอบด้วย

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายในตลาดโดยทั่วไป จะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับต้นทุน คือ ราคาน้ำมันดิบ ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกตลาด จึงปรับตัวเคลื่อนไหวไปในทิศทางและระดับเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว อุปสงค์และอุปทานในภูมิภาคนั้นๆ ยังมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาด จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในบางตลาดอาจปรับตัวแตกต่างจากตลาดอื่น แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะระดับราคาที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดภาวะของการไหลเข้า/ออกของน้ำมันจากตลาดอื่น จนระดับราคาของตลาดนั้นปรับตัวสู่ภาวะสมดุลกับตลาดอื่น ดังนั้น ในการกำหนดราคาของผู้ค้าน้ำมันไทย ไม่ว่าจะใช้ฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดใด การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกตลาดจะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องในระดับเดียวกัน

5. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ตลาดสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญที่สุดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์มิได้เกิดจากการประกาศราคาของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่เกิดจากการตกลงซื้อขายของผู้ซื้อและผู้ขายภายทั้งภายในและภายนอกประเทศสิงคโปร์ ราคาที่ตกลงจะสะท้อนจากปริมาณน้ำมันที่มีในภูมิภาคและความต้องการน้ำมันของภูมิภาคนี้ที่มีเข้ามาในตลาด ดังนั้น ปริมาณการผลิตส่วนเกินและความต้องการน้ำมัน (การส่งออกและการนำเข้า) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดจรสิงคโปร์ การเก็บรวบรวมราคาซื้อขายในตลาดน้ำมันทุกตลาดจะมีบริษัทข้อมูล เช่น Platt’s, Petroleum Argas, Reuters ทำการรวบรวมราคาซื้อขายในแต่ละวัน ซึ่งข้อมูลที่ตลาดน้ำมันใช้อ้างอิงในการต่อรองหรือตกลงราคาซื้อขายกันในธรุกิจน้ำมันระหว่างประเทศ จะเป็นของบริษัท Platt’s เช่น MOP (Mean of Platt’s) หมายถึง ราคากลางที่ได้จากราคาซื้อขายต่ำสุดและสูงสุดที่ Platt’s สรุปในวันนั้นๆ

ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายผ่านตลาดสิงคโปร์ จะอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกันตลาดใหญ่ในพื้นที่อื่น (ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง) ทำให้ยากต่อการปั่นราคาโดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย และราคาจะสะท้อนความสามารถในการจัดหาและความต้องการในภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง โดยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการกลั่นส่วนเกิน แม้จะเริ่มมีการกำหนดราคาส่งออกเอง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ Demand/Supply ของประเทศตนเองส่วนหนึ่ง แต่โดยทั่วไปราคาตลาดจรสิงคโปร์ยังมีอิทธิพลสูงมากต่อราคาในประเทศต่าง ๆ ดังกล่าว

6. ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นและผู้ค้าส่งน้ำมันภายนอกในประเทศในปัจจุบัน

ภายหลังการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงแรกการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น ได้ใช้หลักการของความเสมอภาคกับการนำเข้า (Import parity) ประกอบด้วยราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ (FOB) เฉลี่ย 3 วัน บวกด้วยค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นราคา CIF และจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งในแต่ละโรงกลั่นจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน เพียงแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ค่าขนส่ง ค่าปรับคุณภาพ โดยระดับราคา ณ โรงกลั่นของทุกโรงอยู่ในระดับเดียวกัน มีความแตกต่างกันในระดับ 4 – 10 สต./ลิตร แต่หลังจากประเทศมีกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันมากเกินความต้องการของประเทศ ทำให้ต้องส่งออกการกำหนดราคาของโรงกลั่นนอกจากจะอิงตามภาวะตลาดภายนอกคือราคาตลาดจรสิงคโปร์แล้ว ยังคำนึงถึงสภาพ Demand /Supply ของตลาดภายในประเทศด้วย ในบางช่วงที่น้ำมันในประเทศเหลือมากจะมีการให้ส่วนลด ทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยถูกกว่าราคาตลาดจรสิงคโปร์ในบางช่วง

นอกจากนี้ จากสภาพการแข่งขันในตลาดน้ำมันของไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ในตลาดค้าส่งของไทย มีการเปลี่ยนแปลงราคาทุกวันและบางวันอาจหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนและสภาพตลาดน้ำมันในช่วงนั้น ๆ จากการศึกษาของ สพช. พบว่า ราคาขายส่งน้ำมันภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับตลาดสิงคโปร์ เพราะปริมาณน้ำมันในตลาดของไทย จะปรับตัวตามสภาพตลาดน้ำมันภายนอก และในทางกลับกันตลาดน้ำมันของไทยจะส่งผลกับตลาดในภูมิภาคนี้เช่นกัน เมื่อน้ำมันในตลาดเอเชียขาด (ซึ่งมีผลให้ราคาสิงคโปร์ปรับตัวขึ้น) น้ำมันไทยจะไหลออก ปริมาณน้ำมันในประเทศลดลง ราคาขายในประเทศปรับตัวขึ้น ในทางกลับกัน การที่ปริมาณน้ำมันในตลาดนอกประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาตลาดสิงคโปร์ที่สะท้อนราคาซื้อขายในภูมิภาคเอเชียจะลดลง ความสามารถส่งออกน้ำมันของไทยจะลดลง ราคาขายส่งในประเทศจะมีการให้ส่วนลดเพื่อระบายน้ำมันออกสู่ตลาดภายใน

7. รายได้ของโรงกลั่น

7.1 ราคาน้ำมันมีความไวต่อข่าวและสภาพการจัดหาที่เปลี่ยนแปลง โดยความแตกต่างของราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเคลื่อนไหวในช่วงตั้งแต่ระดับติดลบจนถึง $ 12 – 14 ต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ $ 4-5 ต่อบาร์เรล น้ำมันเตาความแตกต่างจะเป็นลบ โดยเฉลี่ยปีนี้ติดลบอยู่ที่ $ 1 – 1.5 ต่อบาร์เรล ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลวความแตกต่างจะเป็นทั้งบวกและลบขึ้นกับความต้องการและฤดูกาล ปัจจุบันอยู่ระดับ $ -3 ต่อบาร์เรล ส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าว ไม่ใช่กำไรขาดทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการกลั่นและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งอยู่ในระดับ $ 1-2 ต่อบาร์เรล

7.2 ขบวนการกลั่น ในขบวนการกลั่นของโรงกลั่นไม่สามารถเลือกกลั่นเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ สัดส่วนของน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากขบวนการกลั่นจะแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีของแต่ละโรงกลั่น ดังนั้น ในการคำนวณรายได้ของโรงกลั่น จึงต้องใช้ราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยตามปริมาณการผลิตหักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ (ราคาน้ำมันดิบที่รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) เรียกว่า ค่าการกลั่นรวม ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ผลจากการคำนวณค่าการกลั่นโดยใช้ฐานราคาน้ำมันดิบและค่าขนส่งเดียวกันกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปปลายสัปดาห์ก่อน พบว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นไทยออยล์ บางจาก เอสโซ่ ระยอง และสตาร์ จะอยู่ในระดับ $1.2, $1.1, $0.6, $2.1, และ $0.6 ตามลำดับ

7.3 ค่าการกลั่น โรงกลั่นต้องเผชิญกับภาวะค่าการกลั่นตกต่ำ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงกลั่นอยู่ในระดับ $3 ต่อบาร์เรล จากการเก็บสำรองน้ำมันในระดับต่ำของผู้ค้าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวน โดยจะไวต่อสภาพการจัดหาที่เปลี่ยนแปลงและข่าวต่าง ๆ ในช่วงที่โรงกลั่นมีปัญหาการจัดหาถูกจำกัด ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะปรับตัวสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ ทำให้ค่าการกลั่นในช่วงดังกล่าวผันผวน

8. การศึกษาการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ตามแนวทางต่าง ๆ

8.1 การกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตจริง (Cost plus Basis) หลักการเป็นการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามต้นทุนการผลิต คือ ราคาน้ำมันดิบ (Crude Price) และค่าใช้จ่ายในการกลั่น โดยค่าใช้จ่ายในการกลั่นหรือค่าการกลั่นจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Fixed Refining Margin) ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันดิบ ซึ่งจากการเปรียบเทียบการกำหนดราคาโดยใช้ต้นทุนจริง การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามต้นทุนการผลิต จะถูกกว่าการอิงตามราคาตลาด แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นช่วงสั้น เมื่อตลาดปรับตัวสู่สมดุลแล้วการกำหนดราคาตามภาวะตลาดจะถูกกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากสถานภาพของตลาดน้ำมันในภูมิภาคนี้ ในปัจจุบันกำลังการผลิตจะสูงกว่าความต้องการ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถตั้งราคาสูงได้ในภาวะปกติ

ข้อดี: เมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์มีความผันผวนในทิศทางที่ปรับขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมันดิบมาก การกำหนดราคาตามต้นทุน จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่เพิ่มสูงมากเท่าภาวะตลาด

ข้อเสีย: ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนเช่นเดียวกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป การกำหนดราคาตามต้นทุนไม่สามารถแก้ปัญหาความผันผวนของราคาขายปลีกได้ และในภาวะที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวปกติ การกำหนดราคาตามต้นทุน จะทำให้ราคาน้ำมันภายในประเทศสูงกว่าที่ควร เพราะต้นทุนการกลั่นของไทยสูงกว่าโรงกลั่นในสิงคโปร์ รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมตลาดน้ำมัน และการกำหนดราคาไม่สอดคล้องกับสภาพตลาด ทำให้ต้องมีการควบคุมการส่งออกและการนำเข้าน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนขึ้นได้เพราะหากราคาในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า ผู้ผลิตจะส่งออกแทนการจำหน่ายในประเทศ หรือหากราคาจำหน่ายในประเทศแพงกว่าราคานำเข้า ผู้ค้าน้ำมันจะนำเข้าแทนการซื้อในประเทศ การกำหนดค่าการกลั่นคงที่ ทำให้โรงกลั่นไทยไม่เกิดการพัฒนาปรับปรุงระบบในมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการกลั่นของแต่ละโรงกลั่นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การกำหนดค่าการกลั่นคงที่ นอกจากจะไม่ทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อน้ำมันในราคาต่ำลงแล้ว ในทางปฏิบัติคงกระทำได้ยาก เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงกลั่น

8.2 การกำหนดราคาลักษณะผสมระหว่างตามต้นทุนการผลิตและราคาตลาด (1/2 cost plus + 1/2 s’pore price) หลักการเป็นการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตจริงส่วนหนึ่ง และสภาพการซื้อขายน้ำมันของตลาดส่วนหนึ่ง หรือ 1/2 ราคาตามต้นทุนผลิต + 1/2 ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ การกำหนดราคาตามวิธีนี้ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะมีความผันผวนเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ โดยราคาจะสูงกว่าการกำหนดราคาที่อิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์ แต่เป็นระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากการกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ข้อดี: ในภาวะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดมีความผันผวน การกำหนดราคาน้ำมันในลักษณะนี้ จะสามารถลดความผันผวนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงสั้น

ข้อเสีย: ราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีความผันผวนเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ ภาวะตลาดปกติ ราคาน้ำมันภายในประเทศจะแพงกว่าการใช้ราคาตลาด รัฐจำเป็นต้องควบคุมการกำหนดราคา และการนำเข้า/ส่งออก เพื่อมิให้เกิดภาวะตลาดน้ำมันไม่สมดุล หรือมีการขาดแคลนน้ำมันเกิดขึ้น ในทางปฏิบัติไม่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการกลั่นคงที่ได้ เพราะโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายจริงที่แตกต่างกัน

8.3 การกำหนดราคาโดยใช้ระบบจำกัดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (ระบบภาษียืดหยุ่นหรือกองทุนน้ำมันฯ) หลักการเป็นการรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศให้เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ โดยให้อยู่ในระดับที่คาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะรองรับได้ หากราคาน้ำมันสูงหรือต่ำกว่าระดับราคาที่กำหนดไว้ก็จะปรับลดหรือเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตหรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ระดับราคาอยู่ในช่วงที่กำหนด ซึ่งเปรียบเสมือนกับการมีกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

การกำหนดราคาวิธีนี้ มีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากถ้ากองทุนน้ำมันฯ มีฐานะการเงินติดลบ จะไม่อยู่ในสภาพที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ รัฐต้องจัดหางบประมาณหรือใช้ภาษี ซึ่งกลไกการปรับอัตราภาษีไม่มีความคล่องตัวเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน แต่มีข้อดี คือ ลดความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถวางแผนธุรกิจได้ โดยไม่มีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ส่วนข้อเสีย คือ เป็นการนำราคาน้ำมันกลับไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง (ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับก๊าซหุงต้มในปี 2543 ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบถึง 12,000 ล้านบาท) และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันราคาแพง แต่ลดความผันผวนของราคาเท่านั้น ประเทศยังคงจ่ายเงินซื้อน้ำมันเท่าเดิม โครงสร้างราคาน้ำมันจะถูกบิดเบือน ทำให้การบริโภคไม่สอดคล้องกับต้นทุนและไม่ประหยัด รัฐไม่สามารถประมาณการรายได้จากภาษีได้ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ถูกต้องได้

ดังนั้น หากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นไปตามภาวะปกติ ไม่ควรนำวิธีการนี้มาใช้ เพราะจะขัดกับหลักการค้าเสรี แต่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงจะสมควรนำมาใช้เพื่อขจัดความผันผวนของราคาในส่วนที่เกินปกติ แต่จะต้องส่งสัญญาณไปยังประชาชนให้ชัดเจนว่า รัฐไม่ได้กลับมาควบคุมราคา

9. สรุปภาวะการแข่งขันของตลาดน้ำมันไทย

ปัจจุบันตลาดน้ำมันของไทยมีการแข่งขันสูงทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีก โดยในตลาดค้าส่ง กำลังการกลั่นภายในประเทศที่มีมากกว่าความต้องการ ทำให้การกำหนดราคาของโรงกลั่นและผู้ค้าส่งต้องมีการให้ส่วนลดแก่ผู้ค้าน้ำมันในภาวะที่น้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ การที่โรงกลั่นต้องแข่งขันการนำเข้าจากต่างประเทศ ภาวะกำลังการกลั่นล้นตลาดของภูมิภาค ก็มีผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของภูมิภาคเอเซียอยู่ในภาวะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ทำให้การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นและผู้ค้าส่งไม่สามารถตั้งราคาสูงได้

ในตลาดค้าปลีก การแข่งขันอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ค้าน้ำมัน จากเดิมมีเพียงผู้ค้ารายใหญ่ 4 ราย ได้เพิ่มขึ้นเป็น 29 ราย ทำให้การแข่งขันในตลาดค้าปลีกของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ผู้ค้าไม่สามารถกำหนดราคาขายปลีก ในระดับที่แตกต่างกันได้มาก จากการศึกษาของ สพช. พบว่า การกำหนดราคาขายปลีกในระดับที่แตกต่างกัน50 สตางค์/ลิตร จะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายของผู้ค้าน้ำมันลดลงครึ่งหนึ่ง

จากภาวะการแข่งขันในระดับสูงของตลาดน้ำมันทั้งในระดับค้าส่งและค้าปลีก ได้เป็นกลไกทำให้ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับสูงได้ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว ได้แก่ การบริการที่ดีขึ้น สถานีบริการที่มีมาตรฐาน และราคาน้ำมันที่ถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนจริง(การแข่งขันตัดราคา) จากภาวะตลาดที่สมดุลและกลไกตลาด (สภาพการแข่งขัน) ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน รัฐจึงไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือควบคุมภาวะตลาดอื่น ๆ (การนำเข้า/ส่งออก) การแทรกแซงอาจจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากน้ำมันราคาถูกกว่าสภาพปกติเล็กน้อยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวราคาจำหน่ายจะปรับตัวสูงกว่าที่ควร ความสมดุลในตลาดที่เสียไปจะส่งผลต่อเนื่องทำให้การบริโภคถูกบิดเบือน ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันของประเทศเพิ่มขึ้น การลงทุนในธุรกิจน้ำมันเกิดการชะงักงัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดน้ำมันและประเทศโดยส่วนรวมในอนาคต ในส่วนของภาครัฐ การเข้ามาแทรกแซงตลาด จะเป็นภาระของรัฐที่ไม่สามารถถอนตัวออกมาได้ และภาระจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ