จากการสัมมนาและพิธีลงนามสัญญาการใช้เครื่องหมาย Carbon Footprint ในวันที่ 9 เมษายน 2553 ที่โรงแรม Centuri Park กรุงเทพฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (TGO-Thailand Greenhouse Gas Management Organization) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ในพื้นที่จัดงานมีบริษัทต่างๆ จัด Booth แสดงสินค้าที่ได้รับฉลาก Carbon Footprint เช่น พรม Carpet Inter, เสื้อลดโลกร้อนจาก Thong Thai Texttile, เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า, อาหารสุนัข Jerhigh เป็นต้น เครื่องหมาย Carbon Footprint นั้นแสดงดังภาพ ได้ระบุปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมาจากทุกกระบวนการของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ผู้บรรยายหลักประกอบไปด้วย ดร. พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอน, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก , รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ เจ้าภาพโปรแกรมเทคโนโลยีรักษ์สิ่งแวดล้อม สวทช. และผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และมีการบรรยายกรณีศึกษาของสินค้านำร่องในการประเมิน Carbon Footprint
แนวคิดและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
ช่วงสังเกตการณ์ของอุณหภูมิผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ 100 ปีที่ผ่านมานั้น สูงถึง 0.6+/-0.2 oC และถ้าไม่มีมาตรการใดใดอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิจะเร่งสูงขึ้นไปอีกคือในอีก 100 ปีถัดจากนี้คาดว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปัจจุบันถึง 5.5 oC ทีเดียว
Carbon Footprint หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน วัดออกมาในรูปของ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ที่คิดออกมาเป็นเทียบเท่ากับศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนเท่ากับปริมาณกี่เท่าของ CO2 นั่นเอง และมีก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิดที่ประเมินภายใต้พิธีสารเกียวโต ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs), เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs), และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)
สำหรับฉลาก Carbon Footprint บนผลิตภัณฑ์นั้นได้แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน ผู้บรรยายเน้นว่า
การติดฉลาก Carbon Footprint เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ถือว่าเป็น CSR อย่างหนึ่งที่บอกว่าจากผลิตภัณฑ์นี้ได้ปล่อย CO2 ออกมาปริมาณเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในการคำนวณนั้นจำเป็นต้องอาศัยหลักการของ Life Cycle Assessment ด้วยโดยต้องทำ Life Cycle Flow Chart และเก็บข้อมูลแต่ละขั้นตอนใน Flow Chart สำหรับข้อมูลที่เก็บแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ Primary Data คือเก็บข้อมูลเอง, Secondary Data สามารถใช้ได้จาก National Database ของประเทศ (ถ้ามี) และ Default Value คือจากสถาบันอื่นๆ หลังจากนั้นก็สามารถคำนวณได้จากสูตร:
CO2 equivalent of each process = Amount of activity x CO2 emission intensity
และรวมปริมาณ CO2e จากทุกกระบวนการ ก็จะได้ออกมาเป็น Carbon Footprint
Thai National Life Cycle Inventory Database
ถือได้ว่าการติดฉลาก Carbon Footprint นี้เป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเริ่มใช้ ISO14025 ที่คาดว่าจะออกมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยจะบ่งบอกถึงผลกระทบต่อการสร้าง Carbon Footprint และแน่นอนว่ามีข้อได้เปรียบต่อการเจรจาต่อรองในเวทีโลกเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ
ความก้าวหน้าของ LCI (Life Cycle Inventory), LCA (Life Cycle Assessment) และ CFP (Carbon Footprint) ของประเทศไทยนั้น เริ่มจากการสร้างคนให้มีความรู้ในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2546 จนกระทั่งปัจจุบันได้มี Database ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมด้วยกัน และสถานะของ Thai National LCI Database นี้อยู่ในกลุ่มแนวหน้าของโลกทีเดียว มีเพียง 4 ประเทศใน Asia เท่านั้นที่ดำเนินการในปัจจุบัน คือ ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไทย, และมาเลเซีย ผู้บรรยายได้ให้แนวคิดในการเตรียมความพร้อมไว้ว่าในปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่ร่วมมือกันพัฒนา Opensource มีชื่อว่า Earthster ที่สามารถช่วยให้บริษัททั้งหลายสามารถเลือก Suppliers ที่ปล่อย CO2 น้อยกว่า หรือที่มีฉลาก Carbon Footprint หรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งก็จะทำให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้นสามารถที่จะอ้างถึงผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ในทุกกระบวนการที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ได้
สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ การทำโครงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือโครงการเกี่ยวกับ CO2 แบบโครงการฉลาก Carbon Footprint นี้เป็นกลยุทธ์ในการทำ CSR ได้อย่างมีการ Support เชิงเทคนิคระดับโลกทีเดียว และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับกับระบบ ISO14025 ซึ่งคาดว่าน่าที่จะมีทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งผลิตไฟฟ้าที่ต้องผ่านการประเมินฯ ในอนาคตด้วย