ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย (Joint Development Area: JDA-A18) ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557
เมื่อย้อนไปปี 2556 ที่เพิ่งเกิดเหตุการไฟฟ้าดับภาคใต้ 14 จังหวัด จึงมีการใช้มาตรการช่วยกันประหยัดไฟฟ้าซึ่งเป็น Demand Side Management ที่ร่วมมือกันอย่างจริงจังหลายภาคส่วน แสดงว่า คนไทยภาคใต้เริ่มตระหนักแล้วว่าทรัพยากรเริ่มขาดแคลน เพราะเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นปฏิกริยาจากพฤติกรรมของคนต่อเรื่องพลังงานอย่างทันทีทันใด หลังจากคนญี่ปุ่นเข้าสู่โหมด Power-Savings จากเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปีตั้งแต่ปี 2554
อย่างไรก็ตาม สถานะของระบบไฟฟ้ากำลังมีได้หลายระดับและระบุยากตั้งแต่ “การมีไฟฟ้าพอใช้” จนถึง “ความมั่นคงระบบไฟฟ้า” หรือที่เรียกตามภาษาเชิงวิชาการว่า Healthy State, Marginal State และ At Risk State ตามที่อาจารย์ ดร.วิจารณ์ หวังดี เคยบรรยายไว้ที่งานสัมมนา Challenges of Renewable Energy to Power System Planning and Operation จัดโดย IEEE Thailand Section นั้น พื้นที่ภาคใต้ถือเป็นสถานะวิกฤตแบบ At Risk ทีเดียว
ลำดับความมั่นคงของระบบกำลังไฟฟ้าจากมากไปหาน้อย
1.ระบบกำลังไฟฟ้ามีความมั่นคงระดับสูงมาก N-2 (อังกฤษ อเมริกาบางพื้นที่)
2.ระบบกำลังไฟฟ้ามีความมั่นคงระดับสูงแบบปัจจุบัน N-1
3.ไฟฟ้าดับได้เป็นระยะเวลาที่กำหนด: กรณีนี้คนคงต้องเข้านอนพร้อมกันทั้งจังหวัด > <
4.ไฟฟ้าสามารถดับได้ตลอดเวลา: เอกชน โรงงาน ท่องเที่ยว เดือดร้อน!
การลงทุนระบบกำลังไฟฟ้าของประเทศลดลงมาเป็นลำดับจากบนลงล่าง เงินที่คาดว่าจะลงทุนหลายพันล้านบาท ด้วยความมั่นคงฯ แบบที่ 2 (N-1) ยังไม่รวมค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ถ้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแพงก็จะต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าแบบนั้นๆ ไปอีกโรงละ 25-30 ปี
วิเคราะห์ภาคใต้
ที่มา: คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ฝั่งอ่าวไทย: จังหวัดใช้ไฟฟ้าปริมาณมากคือ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมชาติ สุราษฏร์ธานี ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าเลี้ยงจังหวัดพื้นที่นี้คือ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ฯ ตามลำดับ
ฝั่งอันดามัน: โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าเลี้ยงจังหวัดพื้นที่นี้ คือ โรงไฟฟ้ากระบี่ แต่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ตรัง และ กระบี่ ตามลำดับ
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เหตุใดจึงไม่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภูเก็ต เพราะภูเก็ตใช้ไฟฟ้ามากที่สุดถึง 325 เมกะวัตต์ช่วงพีค ประกอบกับการสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ไกลโหลดย่อมหมายถึงเงินลงทุนมหาศาล
วัตถุประสงค์ของจังหวัดภูเก็ตอาจต้องการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าก็เป็นได้ แต่นั้นหมายถึง เราไม่ได้ถูกปลูกฝังความคิดแบบ Life cycle :Grave-to-Grave ว่าการเติบโตไม่ว่าด้านท่องเที่ยวหรือด้านใด ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปด้วยกันเพื่อความยั่งยืน
อีกเรื่องคือ เรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรให้ความสนใจว่าตกลงพื้นที่นั้นๆ มีเป้าหมายไปในทิศทางใด ยกตัวอย่าง พลังงานหรืออาหาร หรือเรื่องบางกระเจ้าที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผังเมือง ไม่ได้รับความเห็นชอบของคนบางกลุ่มในพื้นที่ เป็นต้น
แต่ภาคอื่นของประเทศไทยรู้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ที่เสมือนกันในเชิงพฤติกรรมของคนเรื่องประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพราะไฟฟ้าไม่พอกับความต้องการคล้ายกับเหตุการณ์นี้อาจเกิดภายในไม่เกิน 10 ปี อ่าน blog เรื่องไฟฟ้าไทยกับการใช้ทรัพยากรของเพื่อนบ้าน