Schneider Electric ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส จัดงานสัมมนา-นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน Xperience Efficiency 2013 ที่กรุงเทพ โดยส่วนของงานสัมมนามีการอภิปรายที่น่าสนใจในหัวข้อ “Smart City กับการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
เนื่องจากทีมงาน EnergyThai ได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายด้วย จึงจดประเด็นที่น่าสนใจมาแชร์ให้อ่านกันครับ
คุณดนัย เอกกมล ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน
คุณดนัยเป็นตัวแทนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านพลังงาน ก็มาแชร์มุมมองของภาครัฐต่อนโยบายพลังงาน โดยนโยบายระดับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของไทยมี 5 ประการ
- สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมพลังงาน
- สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ
- จัดการราคาพลังงานให้เหมาะสม
- ขยายสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 25% ใน 10 ปี
- ลดอัตราการใช้พลังงานของประเทศ (energy intensity คิดเทียบสัดส่วนต่อ GDP) ลง 25% ใน 20 ปี
ส่วนตัวเลขด้านการใช้พลังงานของประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม (37%) กับภาคการขนส่ง (36%) รวมกันได้ถึง 73% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ
ส่วนประเด็นด้าน Smart City คุณดนัยมองว่าภาครัฐผลักดันฝ่ายเดียวคงไม่มีทางสำเร็จ ภาคเอกชนต้องช่วยกันผลักดันด้วย
จากประสบการณ์รัฐเคยผลักดันให้เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ทำได้ไม่มากนักเพราะประชาชนยังขาดความรุ้ความเข้าใจ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี เพราะในเรื่องพลังงานนั้น การบริหารจัดการถือว่าสำคัญที่สุด เทคโนโลยีเป็นแค่ปัจจัยสนับสนุน บางหน่วยงานถ้ามีการจัดการที่ดีจริงๆ อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เลยด้วยซ้ำ (แต่ถ้าบางอย่างเก่าจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามปกติอยู่แล้ว)
คุณปริญญา พงษ์รัตนกูล รองประธานบริษัท หน่วยธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ไทยแลนด์
คุณปริญญาแชร์ข้อมูลในฐานะผู้ประกอบการด้านการจัดการพลังงานรายใหญ่ ต่อทิศทางของนานาชาติในเรื่อง Smart City
คุณปริญญาบอกว่าการเกิดขึ้นของ Smart City เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
- เกิดจากความต้องการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (efficiency)
- เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ระบบควบคุมและเฝ้าระวังต่างๆ มีความฉลาดมากขึ้นมาก (intelligence)
- เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในเมือง มูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างขึ้นจากเมืองสมัยใหม่ (urbanization)
ปัจจัยผลักดันพวกนี้ทำให้ “เมือง” ต้อง “สมาร์ท”
คำถามคือ “สมาร์ท” มันหมายถึงอะไรกันแน่? ชไนเดอร์มองว่าประกอบด้วย 3 มิติ
- Efficient มีประสิทธิภาพสูง
- Sustainable ยั่งยืน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุน
- Liveable คุณภาพชีวิตของคนอยู่อาศัยต้องดี
อย่างไรก็ตาม Smart City เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย รัฐ เอกชน นักวางผังเมือง นักลงทุน เอ็นจีโอ รวมถึงผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคด้วย (เช่น ประปา ไฟฟ้า แก๊ส)
องค์ประกอบของระบบควบคุมอัจฉริยะของ Smart City จึงต้องครอบคลุมบริการหลายๆ ส่วน เช่น
- พลังงาน (Smart Energy) ทั้งไฟฟ้าและแก๊ส ตั้งแต่เรื่องสายส่ง ไปจนถึงการจัดการพลังงาน
- การขนส่ง (Smart Mobility) การจัดการระบบจราจร การเก็บค่าทางด่วน ข้อมูลจราจร ไปจนถึงระบบรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
- น้ำ (Smart Water) การผลิตและจัดส่งน้ำประปา ท่อระบายน้ำ และการจัดการน้ำท่วม
- บริการสาธารณะ (Smart Public Services) ความปลอดภัยสาธารณะ บริการประชาชนจำพวก eGovernment ต่างๆ และการจัดการไฟถนน
- สิ่งปลูกสร้าง (Smart Buildings and Homes) เน้นการจัดการพลังงานภายในอาคาร โดยเชื่อมโยงกับ Smart Grid
เจาะมาที่ส่วนของการจัดการพลังงานเป็นพิเศษ ในเรื่องของ Smart Grid ที่พูดกันมานานในโลกของบริษัทไฟฟ้า สมการสำคัญที่ต้องใส่ใจคือ
Smarter Demand + Smarter Supply + Demand Response = Smart Grid
คำว่า Smarter Demand คือฝั่งของอุปสงค์ ผู้บริโภคพลังงานทั้งบ้านเรือนและอาคารสำนักงาน ต้องชาญฉลาดมากขึ้น มีระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ส่วนคำว่า Smarter Supply หรืออุปทาน ผู้ผลิตพลังงานเองก็ต้องปรับตัว ให้การผลิตพลังงานฉลาดขึ้น (กระจายศูนย์, ใช้พลังงานหมุนเวียน) และระบบจัดส่งพลังงานก็ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น
สองฝั่งคือ demand/supply ต้องปรับสมดุลเข้าหากันตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นคือ Demand Response
สุดท้ายทุกอย่างรวมกัน กลายเป็น Smart Grid ในภาพรวมนั่นเอง
สำหรับการอภิปรายของวิทยากรท่านอื่นๆ ตามอ่านต่อในบล็อกตอนหน้าครับ