เหตุการณ์ก๊าซพม่าหยุดไม่ใช่ครั้งแรก

เหตุการณ์ก๊าซพม่าหยุดไม่ใช่ครั้งแรก แม้ก๊าซพม่าไม่หยุดในปีนี้ ก็ดูเหมือนวิกฤตไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ในช่วง 1-2 ปีนี้อาจเกิดขึ้นได้ เพราะภาคใต้ขาดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาระยะหนึ่ง และจากเหตุผลที่เป็นที่รู้กันดีจากการที่ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่เกือบ 70% การเกิดเหตุการณ์แหล่งก๊าซพม่าหยุดจึงกระทบกับประเทศไทยเต็มๆ ซึ่งผลจากการเกิดเหตุการณ์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศช่วยกันบรรเทาความเสียหายไว้ทั้งในมุมเทคนิค-ไฟฟ้าดับ-และมุมเศรษฐศาสตร์-ค่า Ft สูงกระทบอุตสาหกรรมและเงินในกระเป๋าประชาชนทั้งประเทศ

Blog นี้จึงได้รวบรวมไว้ทั้งเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ฉุกเฉิน ที่เกิดผลกระทบกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเรา ดังนี้

ปี 2552

20 ส.ค. 2552 ไทยรัฐ

สาเหตุที่ต้องเปิดระบายน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพราะวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชในอ่าวไทย ท่อส่งก๊าซรั่ว ต้องปิดซ่อมทั้งระบบ ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปถึง 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในพม่า ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต รวมก๊าซ 2 แหล่งที่หายไปสูงถึง 1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 MW ซึ่งเกินความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ผลิตขนานอยู่ในประเทศไทยจะรับ มือได้ทัน
ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าในประเทศไทยดับ กฟผ. จึงให้เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากเขื่อนภูมิพล เดินเครื่องปั่นไฟฟ้าทั้ง 5 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ตั้งแต่ 8:00 น. เพื่อป้อนไฟเข้าระบบอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่มีเวลาเตือนให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน รู้ล่วงหน้าว่าน้ำจะท่วม เพราะต้องใช้ปริมาณน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จนส่งผลให้กระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่ จนกระทั่งเวลา 02:00 น. ของวันที่ 16 ส.ค. จึงได้หยุดการผลิตทั้ง 5 เครื่อง ขณะนี้เหตุการณ์ได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ใช้งานได้ปกติ และต้องขอโทษชาวกาญจนบุรีในพื้นที่บางส่วนที่อยู่ติดริมน้ำ ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำดังกล่าว และขอบคุณชาวกาญจนบุรีที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าของทั้งประเทศ สามารถรักษาระบบไว้ได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ ซึ่งขณะนี้น้ำในลำน้ำจะลดระดับน้ำริมตลิ่งลงเรื่อยๆ และกลับสู่สภาวะปกติ

***อันนี้เป็นอีกมุมที่ประชาชนในพื้นที่หนึ่งต้องเสียสละ เพื่อให้คนในพื้นที่นั้นหรือพื้นที่ข้างเคียงมีไฟฟ้าใช้***

ปี 2553

1 ก.พ.53 นสพ.โพสต์ทูเดย์

ปตท. แจ้งแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ประเทศพม่า เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าระหว่างวันที่ 17-26 มี.ค. 2553 รวม 10 วัน สำหรับแผนหยุดจ่ายก๊าซฯ แหล่งยาดานา เนื่องจากมีการก่อสร้างท่อก๊าซและติดตั้งอุปกรณ์บนแท่นผลิตเพื่อส่งก๊าซฯ ภายในประเทศพม่าเอง โดยปริมาณกำลังผลิตก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาจะอยู่ที่ 700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แต่ในทางเทคนิคก๊าซฯ ที่ถูกจัดส่งมาจากแหล่งดังกล่าวจะต้องนำมาผสมกับก๊าซฯ จากแหล่งเยตากุนที่มีการผลิต 460 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ดังนั้นเมื่อแหล่งใดแหล่งหนึ่งหยุดซ่อมก็เท่ากับแหล่งก๊าซฯ ทั้งสองแห่งต้องหยุดจ่ายไปด้วย ทำให้มีปริมาณก๊าซฯ หายไปประมาณวันละ 1,070 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 6,000 MW

ความเสี่ยงของการใช้ก๊าซธรรมชาติจากพม่า เนื่องจากการผลิตจากแหล่งเยตากุนขึ้นกับแหล่งยาดานา หยุดก็หยุดพร้อมกันอีก ก๊าซฝั่งตะวันตกหายทั้งหมด

ผลกระทบการผลิตไฟฟ้า:

มีการเพิ่มสำรองน้ำมันเตาจากปกติ 3 วันเป็น 5 วันในช่วงดังกล่าว เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซฯ ซึ่งก็มีโรงไฟฟ้ากระบี่ ราชบุรี บางปะกง พระนครใต้ และเตรียมพร้อมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลไว้ด้วย โดยต้องสำรองน้ำมันเพิ่มเพื่อรองรับในช่วง 10 วันนั้น รวมแล้วประมาณ 100 ล้านลิตร จะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นจุดเสี่ยงของระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยที่พึ่งพาก๊าซฯ สัดส่วนสูงถึง 70% โดยการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 600-700 ล้านบาท

ช่วยค่า Ft:

ได้เรียกก๊าซฯ จากแหล่งอ่าวไทยให้ผลิตมากขึ้นกว่าแผน ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติผลิตประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นแหล่งอาทิตย์ และเจดีเอ

วันที่ 7 เม.ย.53 ไทยรัฐ

พม่าได้จ่ายก๊าซเข้าระบบเร็วกว่ากำหนด ส่งผลให้การใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้ามีปริมาณลดลงตามไปด้วย เพราะตามแผนบริหารเชื้อเพลิงกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้น้ำมันเตา 128 ล้านลิตร ก็ใช้เพียง 80 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันดีเซล ใช้เพียง 10.5 ล้านลิตร จากแผนจะต้องใช้ 16 ล้านลิตร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ดังนั้น ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้นราว 6x% ของ 600-700 ล้านบาท => 400 ล้านบาท

ปี 2554

4 ก.ค. 2554 เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ

เหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2554 ซึ่งป็นท่อกิ่ง (24 นิ้ว) ต่อเชื่อมระหว่างท่อประธานในทะเลท่อเส้นที่ 1 (34 นิ้ว) ที่ส่งก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งปลาทอง จากการที่สมอเรือของบริษัทฮุนไดคู่สัญญาของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาวางท่อก๊าซธรรมชาติในแหล่งเดียวกัน ถูกทิ้งลงไปบนจุดเชื่อมต่อตรงระดับความลึกจากผิวน้ำทะเล 60 เมตร ส่งผลให้ความสามารถในการจัดหาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. ลดลงประมาณวันละ 600 ล้าน ลบ.ฟุต

การปฏิบัติการของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน):

วันที่ 4 ก.ค.2554 นักประดาน้ำได้ปิดวาล์วตัดแยกระบบท่อกิ่ง ออกจากท่อประธานแล้วเสร็จ ซึ่งต้องตรวจสอบต่อว่ามีน้ำทะเลอยู่ในท่อฯ ถ้ามีต้องกำจัดน้ำและความชื้นออกจากระบบก่อนนำกลับเข้าใช้งานได้ตามปกติ

ผลกระทบการผลิตไฟฟ้า:

ปตท. จัดหาและจัดส่งน้ำมันเตาให้แก่โรงไฟฟ้าปริมาณ 30 ล้านลิตร และจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ราคา 400 บาทต่อล้านบีทียู , ก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยอยู่ที่ 224-230 บาทต่อล้านบีทียู ) ในเดือนกรกฎาคมนี้เพิ่มขึ้นอีก 70,000 ตัน เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนของก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะขาดก๊าซธรรมชาติในระบบไปประมาณวันละ 250 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าหายไปประมาณ 4,200 MW นั้น ส่งผลให้ต้องเดินโรงไฟฟ้าพลังความร้อน คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง ทั้ง 4 หน่วย โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งปลดระวางแล้ว และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 หน่วย จะต้องหันมาใช้น้ำมันเตา (ราคาน้ำมันเตาขณะนั้นอยู่ที่ 105-110 เหรียญ/บาร์เรล) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ

จากการประเมินเบื้องต้น หากการซ่อมแซมท่อก๊าซธรรมชาติที่รั่วไหลใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะกระทบต่อค่า Ft ที่ถูกส่งผ่านมายังบิลค่าไฟประมาณ 2.5 สตางค์/kWh แต่หากต้องใช้เวลาระหว่าง 1-2 เดือน ค่า Ft จะถูกปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 10 สตางค์/หน่วย ***

ช่วยลด Ft ให้มากที่สุด: ผลิตด้วยเขื่อน และ ถ่านหิน เต็มที่

เพิ่มการผลิต 2 โรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทิน 2 กำลังผลิต 1,070 MW และเขื่อนน้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 MW รวมทั้งเพิ่มการผลิตจากเขื่อนรัชชประภากำลังผลิต 240 MW และยังเลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ปี 2555

13 พ.ย. 2555 thaipost

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2555 ขนาดความสั่นสะเทือน 6.6 ริกเตอร์ ส่งผลให้วาล์วก๊าซธรรมชาติที่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ซึ่งรับก๊าซฯ จากประเทศพม่า เกิดปัญหาปิดตัวเอง และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าในอัตรา 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ รวมทั้งส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันตก กำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่องชั่วคราว ทั้งนี้ กฟผ.ได้แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการสั่งเดินเครื่องน้ำมันเตาจากโรงไฟฟ้าราชบุรีทดแทน จนกระทั่งท่อก๊าซกลับมาเริ่มส่งก๊าซได้ตามปกติเมื่อเวลา 11.00 น. และสามารถส่งจ่ายเข้าโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ทั้งหมดได้ในช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย.2555

ปี 2556

20 ก.พ. 2556 nationchannel

ปตท. แจ้งแท่นขุดเจาะทรุดตัว ก๊าซฯ หายไปวันละ 1,030 ล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็นกำลังการผลิต 6,000 MW ซึ่งต้องหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ เร็วกว่าเดิมที่เคยกำหนดไว้ช่วงสงกรานต์ เป็น 4-12 เม.ย. 56 นี้แทน

ผลกระทบการผลิตไฟฟ้า:

กฟผ. กำหนด 8 มาตรการป้องกัน :
1.เดินเครื่องด้วยโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาและดีเซลแทน
2.รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
3.ผลิตไฟฟ้าเขื่อนจากลาว 4 แห่ง 2,126 MW จากเขื่อนน้ำเทิน น้ำงึม เทินหินบุน และห้วยเหาะ
4.จัดทำแผนทดสอบโรงไฟฟ้าที่ใช้ดีเซลให้ใช้งานได้ทั้งหมด
5.เพิ่มการระบายน้ำโดยปรึกษากรมชลประทาน
6.เลื่อนแผนซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าออกไปก่อน
7.ประสานงาน กฟภ. กฟน. ย้าย Load สถานีไฟฟ้าแรงสูงเพื่อป้องกันระบบกำลังไฟฟ้าแรงดันต่ำ
8.เตรียมแผนดับไฟฟ้า

ทั้งหมดนี้ หากำลังผลิตชดเชยได้ 4,100 MW อีก 1,900 MW ยังขาดอยู่

ครม.สั่งหน่วยราชการช่วยลดใช้ไฟฟ้า 10%

วิธีสุดท้ายนี้ คือ Demand Side Management เป็นวิธีที่สำคัญของการลดการใช้ไฟฟ้าโดยหลักการ Energy Efficiency ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ นอกจากจะประกาศเวลา Peak รายวัน เพื่อให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าช่วงนั้นแล้ว ยังย้ายอุตสาหกรรมไปบริเวณที่แหล่งจ่ายไฟฟ้า-โรงไฟฟ้า-สามารถ Supply ได้อีกด้วย

เหตุการณ์ก๊าซฯ พม่าหยุดไม่ได้น่าตกใจที่ตัวเหตุการณ์แต่อย่างใด เพราะเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกปี ไม่เฉพาะก๊าซฯ พม่าเท่านั้น แหล่งก๊าซฯ ที่ฝั่งอ่าวไทยก็เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้เช่นกัน แต่ที่น่าคิดระยะไกลกันอีกสักหน่อยคือ เราจะใช้ทรัพยากรอะไรต่อในระบบผลิตหลัก (ไม่นับรวมพลังงานหมุนเวียน อันนี้ใจความสำคัญคือ ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม กับทดแทนการใช้น้ำมัน) ถ้าไม่ใช่ถ่านหิน ซึ่งแม้ว่าจะใช้ถ่านหินก็ถ่านหินนำเข้าเท่านั้นในจังหวะเวลานี้ หรือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศก็มีอุปสรรคไม่น้อย
จุดอ่อนของประเทศไทยไม่ใช่เพียงไม่มีทรัพยากรของตัวเอง และใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70% แต่ไทยยังใช้ไฟฟ้ามากกว่าเพื่อนบ้านอีกด้วย