เอกพงษ์ ตรีตรง: การออกแบบผังเมืองกรุงเทพในอีก 100 ปีข้างหน้า

เก็บตกประเด็นจากงาน Xperience Efficiency 2013 ของ Schneider Electric (อ่านตอนแรก Smart City กับการจัดการพลังงานในเมืองยุคใหม่)

ผศ.ดร. เอกพงษ์ ตรีตรง คณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้จัดรายการ “อยู่สบาย” พูดเรื่องการออกแบบเมืองแบบ 360 องศา (360 City Design Factor) โดยใช้กับการออกแบบผังเมืองกรุงเทพในอนาคต

Schneider Electric 2013 Thailand
อ.เอกพงษ์ ตรีตรง (ที่สองจากซ้าย)

เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงเทพก่อน ตั้งแต่ตั้งกรุงเทพ ทำเลของกรุงเทพเป็นเมืองชุ่มน้ำ มีแม่น้ำ มีคลอง เอาไว้ป้องกันศัตรู รอบกรุงเทพเป็นท้องนา ช่วยป้องกันนคร เพราะให้ช้างพม่ามาติดหล่ม

แต่ในปัจจุบัน เราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของเมือง เลยไม่รู้ว่าจะพัฒนาเมืองแบบไหน พอไปพัฒนาแบบทุนนิยมก็เลยเละ มีปัญหาคาราคาซังมาก

  • ขาดการวางแผนด้านการอยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตของคนตกต่ำ เมืองไม่ใช่เมืองที่ให้รถอยู่ แต่ต้องออกแบบให้คนอยู่อาศัย
  • การเก็บขยะไม่มีประสิทธิภาพ เอาขยะมากองๆ กันไว้ เห็น หนูวิ่ง แมลงสาบวิ่ง น้ำเน่า เพราะเราไม่เคยออกแบบเมืองโดยคำนึงเรื่องขยะเลย
  • เรื่องการจราจรไม่ได้คิดเรื่อง dynamic flow ของรถยนต์บนท้องถนน เราไม่ได้เอาแนวคิดด้านวิศวกรรมจราจรมาใช้ แต่เอามนุษย์มาเป่านกหวีด อันนี้ผิดตั้งแต่คิดแล้ว เพราะระบบของเมืองยิ่งใหญ่และซับซ้อนกว่าระบบการสื่อสารมาก แต่กลับใช้มนุษย์ควบคุม ซึ่งเป็นงานที่มนุษย์ทำได้ไม่ดี
  • เมืองขาดการวิเคราะห์เรื่องปัญหาร้ายแรงของภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ เรามีรถดับเพลิงที่ดับเพลิงได้เกิน 20 ชั้นได้หรือเปล่า หรือถ้าเกิดแผ่นดินไหว จะอันตรายกว่าประเทศที่เป็นหินแบบญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป เหมือนขนมชั้นที่เขย่าไปมา
  • มีปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงานในอนาคต ระบบไฟฟ้าบนดินทำมาร้อยกว่าปีแล้ว ไม่เคยเอาลงใต้ดินเลย
  • ปัญหาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ล้มเหลว เราไม่รู้ว่า “บางกอกน้อย” คืออะไร ชุมชนไทย ชุมชนมอญ หายไป กลายเป็นโมเดิร์นเทรด ตึกแถวเน่าๆ ไปแทน
  • น้ำคือความสะอาด พอน้ำสกปรก ฮวงจุ้ยของชาติก็ล้มเหลว ทำยังไงก็ต้องให้น้ำสะอาดก่อน น้ำเป็นชีวิต ประเภณ๊ วัฒนธรรมของชาติ เมื่อไรที่ไม่สนใจน้ำก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
การออกแบบเมือง 360 องศา
แนวทางการออกแบบเมือง 360 องศา

ข้อเสนอ

เราไม่เคยมีแผนหรือวิสัยทัศน์ของเมืองในอีก 100 ปีข้างหน้าเลย ในขณะที่เมืองใหญ่ของโลกมีกันหมด เช่น สิงคโปร์มองว่าเป็น city in the garden หรือ เกาหลีใต้เสนอ creative city

ผมเสนอให้กรุงเทพเป็น royal city

ปัญหาคือกรุงเทพมีคนแน่นเกินไป ปรับปรุงอะไรยาก ต้องหาวิธีย้ายคนออกไปอยู่รอบนอกกรุงเทพ ไม่ได้หมายถึงปริมณฑล แต่ให้เป็นเมืองบริวาร 4 ทิศรอบกรุงเทพออกไป เช่น สุพรรณบุรี ชลบุรี นครปฐม นครนายก สระบุรี

ต้องปรับผังเมืองเหล่านี้ใหม่ สร้างแรงจูงใจให้คนไปสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ พอกรุงเทพเริ่มหลวมลง ก็ออกแบบเมืองกรุงเทพใหม่ เอาระบบ smart มาใช้ ควบคุมแบบ bird-eye view, มอนิเตอร์แบบ 24/7, ไม่ต้องเอาคนมารับค่าทางด่วน เอาคนมาเป่านกหวีด แต่มีระบบอัตโนมัติที่วิเคราะห์ข้อมูลและการเปลี่ยนแปลง

เรื่องพวกนี้สามารถทำได้ เพราะบางเมืองในโลกปรับปรุงตัวได้ในไม่กี่ปี วิธีคิดของดีไซเนอร์ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่เน้นความเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องนามธรรม การสร้างเมืองไม่ใช่สร้างกันมั่วๆ แต่ต้องดีไซน์ออกมาตั้งแต่ต้น บ้านเราต่างคนต่างทำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ทางด่วน รถไฟฟ้า ต่างคนต่างมา