คาร์บอนเครดิต กับปัญหาการหาช่องว่างทางธุรกิจที่ต้องแก้ไข
เห็นว่าน่าสนใจครับ สำหรับผู้ที่สนใจงานของคุณ สฤณี สามารถ
follow ได้ที่ twitter @fringer
ตลาดคาร์บอนเครดิต: ช่วยโลกหรือถ่วงโลก ?
Thu, 14/05/2009 – 07:50 — สฤณี อาชวานันทกุล
เป้าหมายหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งไว้สำหรับคอลัมน์นี้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีเพียงใด คือการ “สลับฉาก” เรื่องที่หยิบยกมาพูดคุย ระหว่างวิกฤตการเงินโลก แนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกการเงิน และเรื่องราวของการเงินขนาดจิ๋ว โดยเฉพาะองค์กรการเงินชุมชนในชนบทไทย
วันนี้ถึงคิวของตลาดใหม่ตลาดหนึ่งในโลกการเงินที่ผู้เขียนคิดว่าบอกอะไรๆ ได้มากมายเกี่ยวกับบทบาทและข้อจำกัดของตลาดการเงินที่อาจทำโทษต่อสังคม มากกว่าประโยชน์ ถ้ากลไกตลาดถูกออกแบบมาไม่ดีพอและไม่มีระบบตรวจสอบที่ละเอียดรัดกุมเพียงพอ ไม่ว่าผู้ออกแบบระบบจะตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม
เพราะในโลกการเงิน สุภาษิตโบราณของฝรั่งที่ว่า “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด” (God is in the details) นั้น เป็นสัจธรรมข้อสำคัญ ตลาดการเงินทุกตลาดอาจดูดีไปหมด ถ้าเรามองแค่พื้นผิวในระดับหลักการหรือเป้าหมายที่ประกาศ แต่ไม่วิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียดไปถึง “วิธีการ” ที่ใช้ และ “ผลลัพธ์” ที่ได้
ตลาดใหม่ที่ว่านั้นคือ ตลาดคาร์บอนเครดิต (carbon credit exchange) ซึ่งได้มีการก่อตั้งแล้วหลายแห่งทั่วโลก นับตั้งแต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกลงนามในพิธีสารเกียวโต ปี 2005 สนธิสัญญาฉบับแรกในโลกที่ผูกพันประเทศผู้ลงนามให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือน กระจก (ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้คำว่า “คาร์บอน” แทนคำว่า “ก๊าซเรือนกระจก” ในคำประสมต่างๆ เพื่อความสะดวก เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหลักที่ก่อภาวะโลกร้อน)
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนเครดิตหลายแห่งทั้งที่ก่อตั้งโดยรัฐ และที่ก่อตั้งโดยบริษัทเอกชน ในปี 2007 ธนาคารโลกประเมินว่าตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีมูลค่ากว่า $64 พันล้าน และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ตลาดแห่งแรกในโลกที่รับจดทะเบียนและค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิดหลัก คือ Chicago Climate Exchange (CCX) ในกรุงชิคาโก ก่อตั้งในปี 2003 โดย ริชาร์ด แซนดอร์ (Richard Sandor) นักเศรษฐศาสตร์การเงิน ผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาของตราสารอนุพันธ์” ในอเมริกา เขาเป็นหนึ่งในหัวหอกที่ช่วยพัฒนาตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ให้กับ Chicago Board of Trade ในทศวรรษ 1970 และมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990
ทุกองค์กรที่สมัครเป็นสมาชิกของ CCX โดยสมัครใจจะต้องลงนามในสัญญาว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่ CCX กำหนด โดยกว่าจะสิ้นสุดเฟสที่สองของโครงการ คือปี 2007-2010 สมาชิกทุกรายจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 จากอัตราฐาน (baseline emission ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1998-2001 หรือค่าปี 2000 ปีเดียว) เท่ากับว่าต้องลดไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ต่อปี
ปัจจุบัน CCX มีสมาชิกกว่า 175 ราย ตั้งแต่บริษัทขนาดยักษ์อย่าง ดูปองท์ โมโตโรลา โซนี่ อินเทล ไอบีเอ็ม โรลสรอยซ์ ฟอร์ด โกดัก คาร์กิลล์ ฯลฯ ไปจนถึงองค์กรนอกภาคธุรกิจอย่างเทศบาลเมืองชิคาโก เทศบาลเมืองเมลเบิร์นในออสเตรเลีย รัฐบาลรัฐอิลลินอยส์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ต์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ซานดิเอโก และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากจะเปิดรับบริษัทและองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงเป็นสมาชิก CCX ยังเปิดรับ “สมาชิกร่วม” (associate member) สำหรับองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงน้อยมาก แต่อยากลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยทางอ้อม เช่น ระยะทางบินที่พนักงานหรือผู้บริหารโดยสารเครื่องบินไปดูงาน หรือไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในแต่ละปี
ตัวตราสารทางการเงินที่ซื้อขายกันใน CCX มีชื่อว่า Carbon Financial Instrument ย่อว่า CFI สัญญา CFI แต่ละฉบับมีสองส่วน คือ เพดานก๊าซเรือนกระจก (Exchange Allowances) และปริมาณที่ซื้อมาชดเชย (Exchange Offsets หรือที่มักจะเรียกทับศัพท์ว่า ออฟเซต) ส่วนแรก คือ เพดานคาร์บอน จะถูกกำหนดโดย CCX ตามอัตราฐานและตารางการลดคาร์บอนรายปีที่สัญญาไว้
ส่วนที่สอง คือ ออฟเซต หมายถึงคาร์บอนจากโครงการที่ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า โรงไฟฟ้าพลังลม โครงการกักเก็บคาร์บอนในภาคเกษตร ฯลฯ ที่ผ่านการรับรองจากองค์กรตรวจสอบในรายชื่อของ CCX แล้วว่าลดการปล่อยคาร์บอนได้จริง
สัญญา CFI หนึ่งฉบับมีค่าเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100 เมตริกตัน สมาชิกของ CCX ทุกรายจะต้องวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนรายปีด้วยวิธีที่ CCX เห็นชอบ โดยมีองค์กรอิสระที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมดในอเมริกา คือ Financial Industry Regulatory Authority (FINRA) ทำการตรวจสอบในฐานะบุคคลภายนอก (external audit) อีกชั้นหนึ่ง
CCX ฟังเผินๆ ดูมีประโยชน์มาก เพราะน่าจะสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายลดการปล่อยคาร์บอน ใครก็ตามที่ปล่อยคาร์บอนสูงก็จะต้องจ่ายเงินซื้อ “ออฟเซต” มาก ใครที่ลดคาร์บอนลงได้มากกว่าอัตราฐาน ก็สามารถทำเงินจากการขาย “เครดิต” ให้กับคนที่ลดไม่ได้ นอกจากนี้การระบุมูลค่าของคาร์บอนอย่างชัดเจนยังเพิ่มต้นทุนโดยตรงให้กับ วิธีผลิตพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน (ซึ่งทำให้พลังงานทดแทนน่าลงทุนมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ) ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า และป่าชุมชน ซึ่งถ้าขายคาร์บอนเครดิตได้เรื่อยๆ ก็จะเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนท้องถิ่น
ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่จะทำประโยชน์มากมาย หลังจากที่เปิดตลาดมาแล้วหลายปี CCX ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกหลายประเด็น บางปัญหากำลังทวีความรุนแรงจนทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนข้องใจว่า CCX กำลังก่อผลเสียมากกว่าผลดี หรืออย่างน้อยก็ไม่ดีเท่ากับที่เคยคาดไว้หรือไม่
ปัญหาที่รุนแรงที่สุดคือ หลายโครงการที่ CCX ให้การรับรองว่าลดคาร์บอน และดังนั้นจึงอนุมัติให้ขายเป็นออฟเซตในตลาดนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้ลดคาร์บอนในปริมาณที่ “เพิ่ม” จากที่เคยทำอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ตอนนี้ชาวนาหลายร้อยคนในอเมริกาได้รับเช็คเงินสดจาก CCX ทุกเดือน บางครั้งในยอดสูงถึง $2,000 เพียงเพราะพวกเขาทำการเกษตรแบบไถกลบ หมายความว่าหลังฤดูเพาะปลูกแต่ละครั้ง ชาวนาเหล่านี้จะไม่ไถพรวนดินเพื่อเปิดหน้าดินขึ้นมา แต่จะทิ้งเศษพืช วัชพืช ตอข้าว ฯลฯ ที่หลงเหลือจากการปลูกในฤดูที่แล้ว และไถกลบลงไปแทน เพื่ออนุรักษ์อินทรียวัตถุในดิน วิธีนี้เท่ากับเป็นการกักเก็บคาร์บอนไว้ในดิน ไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ปัญหาอยู่ตรงที่ชาวนาเหล่านี้หลายคนทำการเกษตรแบบไถกลบมานานนับสิบปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาเปลี่ยนหลังจากได้ยินว่าวิธีเพาะปลูกแบบนี้จะเอาไปขึ้นเป็น เงินกับ CCX ได้ และพวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณของคาร์บอนในดินให้มากกว่าระดับที่เคยทำมา
ตามกติกาของ CCX บริษัทสมาชิกรายใดก็ตามที่ปล่อยคาร์บอนสูงมากแต่มีเงินพอ (และส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทขนาดยักษ์ที่มีเงินเกินพอ) จะสามารถใช้เครดิตจากฟาร์มของชาวนาเหล่านี้เพื่อชดเชย (ออฟเซต) ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของพวกเขา แต่ในกรณีนี้เงินที่จ่ายผ่าน CCX จะไม่ได้ส่งผลสุทธิอะไรเลยกับระดับคาร์บอนโดยรวมในชั้นบรรยากาศโลก เพราะชาวนาก็ไม่ได้ลดคาร์บอนมากกว่าที่เคยลด ส่วนบริษัทสมาชิกของ CCX ก็ยังปล่อยคาร์บอนเท่ากับที่เคยปล่อยในอดีตอยู่อย่างเดิม เพราะได้ซื้อออฟเซตมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ เงินที่ไหลเวียนผ่าน CCX สุดท้ายแล้วจึงอาจไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมได้ตามความตั้งใจ ถ้ากิจกรรมออฟเซตบางกิจกรรมไม่ได้ลดคาร์บอนมากกว่าในอดีตก่อนที่จะถูกนับว่า เป็นออฟเซต และบริษัทสมาชิกเงินหนาก็ตั้งหน้าตั้งตาซื้อแต่ออฟเซต เพื่อจะได้ไม่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเองลงจริงๆ
ปัญหาที่ว่าเงินอาจสะพัดอย่างเดียวโดยไม่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสุทธินั้น เป็นประเด็นใหญ่ที่นักสิ่งแวดล้อมหลายคนใช้เป็นเหตุผลโจมตีตลาดคาร์บอน เครดิตโดยทั่วไปว่า การใช้กลไกตลาดทำนองนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง แต่แซนดอร์ก็โต้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าประเด็นที่ว่าการลดคาร์บอนเกิดขึ้น “จริง” หรือไม่ คือประเด็นที่ว่าการเข้าเป็นสมาชิกของ CCX นั้นช่วยกระตุ้นให้สมาชิกคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนในฐานะ “ต้นทุน” รายการหนึ่งในการทำธุรกิจ และบริษัทสมาชิกหลายแห่งก็ประกาศแผนการลดการปล่อยคาร์บอนจริงๆ ไม่ใช่ซื้อออฟเซตแล้ว เช่น ดูปองท์ประกาศว่าบริษัทจะลดการปล่อยคาร์บอนลงถึงร้อยละ 65 ภายในปี 2010
อีกปัญหาหนึ่งที่พบในตลาดคาร์บอนเครดิตโดยทั่วไปคือ ผู้ขายโครงการออฟเซตหลายรายขายโครงการที่ในความเป็นจริงไม่ได้ลดคาร์บอน เช่น โครงการปลูกต้นไม้ในพื้นที่นอกเขตร้อนของโลก
คนทั่วไปมักจะคิดว่าปลูกต้นไม้ที่ไหนก็น่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนทั้งนั้น แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏในรายงานชิ้นเอกปี 2005 ของ เคน คาลเดรา (Ken Caldeira) นักนิเวศวิทยาจากสถาบันคาร์เนกี คือ การปลูกป่าเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนนอกเขตร้อนนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะต้นไม้ไม่ได้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว แต่ยังดูดซับแสงอาทิตย์ด้วย ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ต้นไม้ดูดซับไว้อาจ “หักล้าง” อุณหภูมิที่ลดได้จากการดูดซับคาร์บอน ทำให้อุณหภูมิโลกโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเขตร้อน น้ำที่ระเหยเร็วเป็นไอช่วยสร้างม่านหมอกที่บังแสงแดด ทำให้ป่าชุ่มชื้นและต้นไม้ “เย็น” ดังนั้นการปลูกป่าจึงช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริง
นอกเหนือจากปัญหาที่โครงการหลายแห่งไม่ได้กำลังลดคาร์บอน “เพิ่มเติม” เมื่อเทียบกับก่อนมีตลาดคาร์บอนเครดิต อีกปัญหาหนึ่งคือ นักธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังฉวยโอกาสทำกำไรสูงลิ่วในทางที่เอาเปรียบบริษัท ผู้ซื้อ ยกตัวอย่าง เช่น ในเดือนกันยายนปี 2008 หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า โรงงานและบริษัทค้าคาร์บอนเครดิตหลายแห่งในประเทศจีนกวาดรายได้ไปหลายร้อย ล้านเหรียญจากการขายคาร์บอนออฟเซตจากโครงการทำลายก๊าซอุตสาหกรรมที่เรียกว่า HFC-23 เนื่องจากก๊าซ HFC-23 มีอันตรายกว่า CO2 ถึง 11,000 เท่า การทำลายก๊าซตัวนี้จึงสามารถนำไปขายได้เงินมหาศาล ทั้งๆ ที่โรงงานเหล่านี้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ทำลาย HFC-23 เองได้ด้วยต้นทุนเพียงไม่กี่ล้านเหรียญต่อโรงงาน
รัฐบาลจีนเถียงเรื่องนี้อย่างมีเหตุมีผลว่า ถ้าปราศจากแรงจูงใจที่ตลาดคาร์บอนเครดิตสร้าง โรงงานเหล่านี้ก็จะไม่ทำลายก๊าซตัวนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะยังไม่เข้าข่ายเป็นมลพิษตามกฎหมายจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ตอบโต้ว่า ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลจีนก็ควรจะจ่ายเงินอุดหนุนให้โรงงานเหล่านี้ติดตั้ง อุปกรณ์ทำลายก๊าซตัวนี้ เพราะการทำแบบนั้นจะถูกกว่าเอาไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตถึง 4.5 พันล้านยูโร ตามรายงานที่ลงนิตยสาร Nature
หลังจากที่โต้ตอบกันไปมา องค์การสหประชาชาติก็ปิดช่องโหว่เรื่องนี้ด้วยการประกาศว่า โรงงานทุกแห่งที่สร้างหลังปี 2004 จะไม่สามารถนำก๊าซ HFC-23 ที่ทำลายมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้อีก
กรณีตัวอย่างเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวนาอเมริกันที่อยู่เฉยๆ ก็ได้เงินโดยไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม โครงการปลูกป่าที่ไม่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และโรงงานจีนที่กอบโกยเงินเข้ากระเป๋าด้วยการอาศัยช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ออฟเซต ล้วนแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของประเด็นสิ่งแวดล้อม และข้อจำกัดของการใช้ตลาดการเงินในการแก้ปัญหา ซึ่งถึงแม้ว่าหลายปัญหาจะบรรเทาได้ด้วยการออกแบบขั้นตอนตรวจสอบและรับรอง โครงการออฟเซตให้รัดกุมและรอบคอบกว่าเดิม ถึงที่สุดแล้วเราคงไม่สามารถบรรเทาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนได้ ถ้าทุกคนมัวแต่จ่ายเงินซื้อออฟเซตโดยไม่ลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเองลงอย่าง แท้จริง และถ้าโครงการออฟเซตมุ่งแต่จะ “หากินกับของเก่า” เท่านั้น
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2552
อ่านเจอใน http://www.onopen.com/sarinee