Smart City กับการจัดการพลังงานในเมืองยุคใหม่

Schneider Electric ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส จัดงานสัมมนา-นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน Xperience Efficiency 2013 ที่กรุงเทพ โดยส่วนของงานสัมมนามีการอภิปรายที่น่าสนใจในหัวข้อ “Smart City กับการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ”

เนื่องจากทีมงาน EnergyThai ได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายด้วย จึงจดประเด็นที่น่าสนใจมาแชร์ให้อ่านกันครับ

Schneider Electric 2013 Thailand
ผู้เข้าร่วมเสวนา คุณดนัยนั่งอยู่ด้านขวาสุด และคุณปริญญานั่งอยู่ลำดับที่สอง

คุณดนัย เอกกมล ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน

คุณดนัยเป็นตัวแทนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านพลังงาน ก็มาแชร์มุมมองของภาครัฐต่อนโยบายพลังงาน โดยนโยบายระดับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของไทยมี 5 ประการ

  1. สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมพลังงาน
  2. สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ
  3. จัดการราคาพลังงานให้เหมาะสม
  4. ขยายสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 25% ใน 10 ปี
  5. ลดอัตราการใช้พลังงานของประเทศ (energy intensity คิดเทียบสัดส่วนต่อ GDP) ลง 25% ใน 20 ปี

Thailand Energy Policy and Plan

ส่วนตัวเลขด้านการใช้พลังงานของประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม (37%) กับภาคการขนส่ง (36%) รวมกันได้ถึง 73% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ

Thailand's Energy Consumption 2012

ส่วนประเด็นด้าน Smart City คุณดนัยมองว่าภาครัฐผลักดันฝ่ายเดียวคงไม่มีทางสำเร็จ ภาคเอกชนต้องช่วยกันผลักดันด้วย

จากประสบการณ์รัฐเคยผลักดันให้เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ทำได้ไม่มากนักเพราะประชาชนยังขาดความรุ้ความเข้าใจ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี เพราะในเรื่องพลังงานนั้น การบริหารจัดการถือว่าสำคัญที่สุด เทคโนโลยีเป็นแค่ปัจจัยสนับสนุน บางหน่วยงานถ้ามีการจัดการที่ดีจริงๆ  อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เลยด้วยซ้ำ (แต่ถ้าบางอย่างเก่าจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามปกติอยู่แล้ว)

คุณปริญญา พงษ์รัตนกูล รองประธานบริษัท หน่วยธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ไทยแลนด์

คุณปริญญาแชร์ข้อมูลในฐานะผู้ประกอบการด้านการจัดการพลังงานรายใหญ่ ต่อทิศทางของนานาชาติในเรื่อง Smart City

คุณปริญญาบอกว่าการเกิดขึ้นของ Smart City เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

  • เกิดจากความต้องการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (efficiency)
  • เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ระบบควบคุมและเฝ้าระวังต่างๆ มีความฉลาดมากขึ้นมาก (intelligence)
  • เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในเมือง มูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างขึ้นจากเมืองสมัยใหม่ (urbanization)

Megatrends and the cities

ปัจจัยผลักดันพวกนี้ทำให้ “เมือง” ต้อง “สมาร์ท”

คำถามคือ “สมาร์ท” มันหมายถึงอะไรกันแน่? ชไนเดอร์มองว่าประกอบด้วย 3 มิติ

  1. Efficient มีประสิทธิภาพสูง
  2. Sustainable ยั่งยืน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุน
  3. Liveable คุณภาพชีวิตของคนอยู่อาศัยต้องดี

Smart City

อย่างไรก็ตาม Smart City เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย รัฐ เอกชน นักวางผังเมือง นักลงทุน เอ็นจีโอ รวมถึงผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคด้วย (เช่น ประปา ไฟฟ้า แก๊ส)

องค์ประกอบของระบบควบคุมอัจฉริยะของ Smart City จึงต้องครอบคลุมบริการหลายๆ ส่วน เช่น

  • พลังงาน (Smart Energy) ทั้งไฟฟ้าและแก๊ส ตั้งแต่เรื่องสายส่ง ไปจนถึงการจัดการพลังงาน
  • การขนส่ง (Smart Mobility) การจัดการระบบจราจร การเก็บค่าทางด่วน ข้อมูลจราจร ไปจนถึงระบบรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
  • น้ำ (Smart Water) การผลิตและจัดส่งน้ำประปา ท่อระบายน้ำ และการจัดการน้ำท่วม
  • บริการสาธารณะ (Smart Public Services) ความปลอดภัยสาธารณะ บริการประชาชนจำพวก eGovernment ต่างๆ และการจัดการไฟถนน
  • สิ่งปลูกสร้าง (Smart Buildings and Homes) เน้นการจัดการพลังงานภายในอาคาร โดยเชื่อมโยงกับ Smart Grid

IMG_2336

เจาะมาที่ส่วนของการจัดการพลังงานเป็นพิเศษ ในเรื่องของ Smart Grid ที่พูดกันมานานในโลกของบริษัทไฟฟ้า สมการสำคัญที่ต้องใส่ใจคือ

Smarter Demand + Smarter Supply + Demand Response = Smart Grid

คำว่า Smarter Demand คือฝั่งของอุปสงค์ ผู้บริโภคพลังงานทั้งบ้านเรือนและอาคารสำนักงาน ต้องชาญฉลาดมากขึ้น มีระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ส่วนคำว่า Smarter Supply หรืออุปทาน ผู้ผลิตพลังงานเองก็ต้องปรับตัว ให้การผลิตพลังงานฉลาดขึ้น (กระจายศูนย์, ใช้พลังงานหมุนเวียน) และระบบจัดส่งพลังงานก็ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น

สองฝั่งคือ demand/supply ต้องปรับสมดุลเข้าหากันตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นคือ Demand Response

สุดท้ายทุกอย่างรวมกัน กลายเป็น Smart Grid ในภาพรวมนั่นเอง

Smart Cities: Smart Grid

สำหรับการอภิปรายของวิทยากรท่านอื่นๆ ตามอ่านต่อในบล็อกตอนหน้าครับ